วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2552

บทที่ 2 สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27

บทที่ 2
สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27


2.1 ประวัติความเป็นมา
ประวัติสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27
สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 เป็นหน่วยงานหนึ่งของกรมสรรพากร สังกัดสำนักงานสรรพากรภาค 3 จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2539 ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมสรรพากรกระทรวงการคลัง มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมการปฏิบัติงานด้านการจัดเก็บภาษีอากรในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ โดยการควบคุมและติดตามผลการจัดเก็บอากรให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้
พื้นที่ในความรับผิดชอบ มี 5 เขต ตามการแบ่งเขตของกระทรวงมหาดไทย แต่เป็น 3 สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาของกรมสรรพากร
1. เขตบางขุนเทียน สรรพากรพื้นที่สาขาบางขุนเทียน
2. เขตบางบอน สรรพากรพื้นที่สาขาบางขุนเทียน
3. เขตราษฎร์บูรณะ สรรพากรพื้นที่สาขาราษฎร์บูรณะ
4. เขตทุ่งครุ สรรพากรพื้นที่สาขาราษฎร์บูรณะ
5. เขตจอมทอง สรรพากรพื้นที่สาขาจอมทอง

ประวัติสรรพากร
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงวางแผนปฏิรูปการปกครองแล้ว ก็ได้ทรงวางระเบียบกิจการคลังใหม่โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นในปี พ.ศ. 2416 เพื่อเก็บรายได้ภาษีอากรของแผ่นดินมารวมไว้ ณ ที่แห่งเดียว ต่อมาจึงยกเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีเสนาบดีประจำต่างหากในปีพ.ศ. 2435 การภาษีอากรก็ได้ทรงปรับปรุงใหม่ โดยแต่งตั้งข้าหลวงคลังไปประจำทุกจังหวัดและทุกมณฑลเพื่อทำหน้าที่เก็บภาษีอากรจากราษฎรโดยตรงแล้วรวบรวมรายได้ทั้งหมดส่งมารวมไว้ ณ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ราษฎรไม่ต้องเสียภาษีอากรมากน้อยลักลั่นกันเหมือนแต่ก่อน ทั้งนี้ย่อมเป็นการปรับปรุงระบบการคลังอย่างยิ่งใหญ่ ทำให้ผลประโยชน์รายได้ของแผ่นดิน เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ในด้านรายจ่ายก็ทรงวางพิกัดอัตราเงินเดือนให้แก่ข้าราชการตามตำแหน่งเป็นที่แน่นอนแทนเงินเบี้ยหวัดที่จ่ายแต่เดิม และยังพระราชทานเบี้ยบำนาญแก่ข้าราชการเพื่อเป็นเครื่องเลี้ยงชีพเมื่อรับราชการไม่ได้แล้ว อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2439 พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก อันเป็นแบบฉบับที่จะต้องทำงบประมาณแผ่นดินสืบมาทุกปี
ครั้นปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ.112) ประเทศไทยต้องประสบวิกฤตทางการเมืองอย่างหนัก ด้วยฝรั่งเศสยกกองทหารมารุกรานดินแดนฝั่งแม่น้ำโขง รัฐบาลจำเป็นต้องส่งทหารไปตั้งรับข้าศึกที่เมืองอุบลราชธานี ทำให้เมืองปราจีนบุรีมีความสำคัญ ทางด้านยุทธศาสตร์และทาง การเมืองขึ้น ฉะนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งเมืองปราจีนบุรีเป็นมณฑลขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และโปรดให้พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุกร์ ชูโต) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล ต่อมาในการประชุม สมุหเทศาภิบาลครั้งแรกในปี พ.ศ. 2438 พระยาฤทธิรงค์รณเฉท กราบทูลเสนาบดีกระทรวง มหาดไทยว่าอากรค่าน้ำในมณฑลปราจีนบุรี รัฐบาลได้รับเงินอากรเข้าพระคลัง น้อยกว่าเท่าที่ควรจะได้ เพราะนายอากรที่รับผูกขาดไม่มีเวลาที่จะเก็บได้ทั่วถึง ถ้าให้สมุหสมุหเทศาภิบาลจัดเก็บอากรค่าน้ำและ ให้รางวัลส่วนลดแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ให้เป็นพนักงานเก็บจะได้เงินหลวงเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงนำความไปกราบทูลกรมขุนศิริธัชสังกาศ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติซึ่งไม่ทรงเห็นชอบด้วย ดังปรากฎข้อความในหนังสือ สาส์นสมเด็จ ลายพระหัตถ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น มีหนังสือทูลสมเด็จกรมพระยานริศราฯ ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2478 อธิบายเรื่องเปลี่ยนวิธีเก็บภาษีอากรดังนี้
หลายปีมาแล้วเมื่อ เซอร์ เอดวาร์ด กุ๊ก ยังเป็นที่ปรึกษากระทรวงพระคลัง วันหนึ่งมาหาหม่อมฉันที่วังวรดิศ พูดขึ้นว่า แกตรวจดูจำนวนเงินแผ่นดินที่ได้รับประจำปีย้อนถอยหลังขึ้นไปถึงรัชกาลที่ 5 เกิดประหลาดใจด้วยเห็นเงินจำนวนรายได้ตั้งแต่ ค.ศ. 1896 ( พ.ศ. 2439 ) เพิ่มขึ้นปีละมากๆ ไปตรวจดูทางภาษีอากร ก็ไม่ปรากฏว่าในระหว่างนั้นรัฐบาลได้ตั้งภาษีอากรอย่างใดขึ้นใหม่ หรือเพิ่มพิกัดอัตราภาษีเก่าอย่างใดอีก คิดไม่เห็นว่าเงินแผ่นดินเพิ่มขึ้นมากมายด้วยเหตุใด ถามพวกข้าราชการกระทรวงพระคลังที่รับราชการอยู่ในเวลานี้ก็ไม่มีใครรู้ แกนึกว่าบางทีหม่อมฉันจะทราบเหตุเพราะตัวหม่อมฉันทำราชการในสมัยนั้นจึงมาถาม หม่อมฉันตอบว่า เหตุที่เงินแผ่นดินได้มากขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2439 นั้น หม่อมฉันทราบอยู่พอจะอธิบายได้ แต่นึกขวยใจอยู่หน่อยด้วยเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับตัวหม่อมฉันอยู่บ้าง ขออย่าให้แกเข้าใจว่าหม่อมฉันเล่าอวดดีสำหรับตัว เพราะที่จริงเป็นความคิดและช่วยกันทำหลายคน แล้วหม่อมฉันจึงเล่าเรื่องตามที่เป็นมาให้เซอร์ เอดวาร์ด กุ๊กฟังก็พอใจ แต่เรื่องที่หม่อมฉันเล่านั้นยังไม่เคยจดลงเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะเมื่อเซอร์ เอดวาร์ด กุ๊ก มาถามยอดจำนวนเงินด้วยวาจา หม่อมฉันจำจำนวนเงินไม่ได้ พึ่งมาพบบัญชีจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นครั้งนั้นเมื่อเร็วๆนี้ หม่อมฉันจึงเห็นควรจะเขียนทูลบรรเลงในจดหมายประจำสัปดาห์ ได้เรื่องอันเป็นมูลเหตุมีดังกล่าวต่อไปนี้
เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดฯให้หม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อ ร.ศ.111 ( พ.ศ. 2435 ) นั้นทรงพระราชดำริถึงลักษณะการปกครองหัวเมืองที่จะจัดต่อไปในภายหน้าเป็นยุติ 3 ข้อ คือ
ข้อ 1จะรวบรวมการบังคับบัญชาหัวเมือง ซึ่งเคยแยกกันอยู่ 3 กระทรวงคือ มหาดไทย กลาโหม กรมท่า ให้มารวมอยู่ในกระทรวงมหาดไทยเพียงกระทรวงเดียว
ข้อ 2 จะรวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลตามสมควรแก่ภูมิลำเนา ให้สะดวกแก่การปกครองและมีสมุหเทศาภิบาลบังคับบัญชาการทุกมณฆล
ข้อ 3 การเปลี่ยนแปลงที่ทรงพระราชดำริ จะค่อยจัดไปเป็นชั้นๆมิให้เกิดการยุ่งเหยิงในการเปลี่ยนแปลง
ในปีแรก หม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นแต่ศึกษาหาความรู้ราชการในกระทรวง กับออกไปตรวจตามหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งภายหลังจัดเป็นมณฑลอยุธยา มณฑลนครสวรรค์ มณฑลพิษณุโลก กับทั้งเมืองสุพรรณบุรี (เวลานั้นเมืองนครชัยศรียังขึ้นอยู่กรมท่า) เพื่อหาความรู้มาคิดกะรายการที่จะจัดต่อไป ครั้นปีต่อมาถึง ร.ศ.112 ( พ.ศ. 2436 ) เผอิญเกิดเหตุวิวาทกับฝรั่งเศส จะต้องส่งทหารไปเมืองอุบลทางเมืองปราจีนบุรีเพื่อจะให้สะดวกแก่การส่งทหาร จึงโปรดให้จัดตั้งมณฑลปราจีนขึ้นก่อนและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุกร์ ชูโต) เป็นสมุหเทศาภิบาลคนแรก ต่อมาอีกปีหนึ่งจึงตั้งมณฑลอยุธยา มณฑลนครสวรรค์ มณฑลพิษณุโลกและตั้งมณฑลอื่นในปีต่อๆมา
ในสมัยนั้น การเก็บภาษีอากรทั้งที่กรุงเทพฯและตามหัวเมืองยังใช้วิธีกระทรวงพระคลังเรียกประมูลให้มีผู้รับผูกขาดไปเก็บภาษีอากรต่างๆ ทุกปี พระยาฤทธิรงค์ฯได้ไปจัดมณฑลปราจีนก่อนมณฑลอื่นอยู่ปีหนึ่ง รู้การในท้องที่ดีกว่าสมุหเทศาภิบาลคนอื่น เมื่อมีการประชุมสมุหเทศาภิบาลครั้งแรกในพ.ศ. 2438 พระยาฤทธิรงค์ฯมาบอกหม่อมฉันว่าอากรค่าน้ำในมณฑลปราจีนเงินหลวงที่ได้เข้าพระคลังยังน้อยกว่าที่ควรจะได้อยู่มาก เพราะนายอากรที่รับผูกขาดไป มีเวลาที่จะเก็บเฉพาะปีหนึ่ง ต้องรีบจัดเก็บให้ได้กำไรภายในเวลาที่ตนมีอำนาจ เพราะฉะนั้นใครจะเข้าว่าประมูลก็ต้องกะจำนวนเงินให้ได้ต่ำด้วยกลัวขาดทุน ยกตัวอย่างดังอากรค่าน้ำเมืองปราจีนบุรีมึผู้รับประมูลเสนอเพียงปีละ 2,400 บาทเท่านั้น แม้จำนวนเงินเพียงเท่านั้น ใครเป็นนายอากร ยังต้องไปใช้วิธีเก็บเลี่ย
พระราชบัญญัติ เช่น คิดอุบายว่ากล่าวให้ราษฎรยอมเสียค่าน้ำเหมาตามครัวเรือน เป็นต้น เพื่อจะให้ได้เงินโดยเร็ว แต่ที่จริงนั้นนายอากรเก็บค่าน้ำได้แต่ราษฎรที่อยู่ใกล้ๆ พวกที่อยู่ห่างไกลออกไปนายอากรก็ไม่สามารถจะเก็บไปถึง ยังมีคนที่ไม่ต้องไปเสียภาษีอากรค่าน้ำอยู่โดยมาก พระยาฤทธิรงค์ฯเห็นว่าถ้าให้เทศาภิบาลเก็บอากรค่าน้ำให้ส่วนลดแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่ใช้เป็นพนักงานเก็บ จะได้เงินหลวงเพิ่มขึ้นอีกมากหม่อมฉันเห็นชอบด้วยจึงนำความไปทูล กรมขุนศิริธัชสังกาศ
ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังอยู่เวลานั้น ท่านไม่ทรงเห็นชอบด้วยตรัสว่า นายอากรไม่ส่งเงินฉันเอาตัวขังได้ ถ้าเทศาฯไม่ส่งเงิน ฉันเอามาขังไม่ได้ เงินหลวงก็จะสูญ เมื่อท่านตรัสอย่างนั้นหม่อมฉันก็จนใจ ต่อมาเมื่อใกล้จะสิ้นปี วันหนึ่งกรมขุนศิริธัชฯเสด็จมาหาหม่อมฉันที่กระทรวงมหาดไทย ตรัสถามว่าที่พระยาฤทธิรงค์ฯจะรับเก็บอากรค่าน้ำเมืองปราจีนบุรี จะรับได้จริงๆหรือ หม่อมฉันทูลถามว่าเหตุใดจึงจะกลับโปรดให้พระยาฤทธิรงค์ฯเก็บอากรค่าน้ำ ตรัสบอกว่านายอากรเดิมร้องขาดทุน ขอลดเงินอากรค่าน้ำเมืองปราจีนบุรี ผู้อื่นก็ไม่มีใครเข้าประมูลดูเหมือนจะนัดแนะกันโกงกระทรวงพระคลัง จึงทรงพระดำริเปลี่ยนมาให้เทศาฯเก็บ หม่อมฉันทูลถามว่าจะต้องพระประสงค์ให้ส่งจำนวนเงินสักเท่าใด ตรัสตอบว่าเพียง
เท่าที่นายอากรผูกขาดไปปีก่อน อย่าให้เงินหลวงลดลงก็พอพระหฤทัย หม่อมฉันจึงบอกไปยังพระยาฤทธิรงค์ฯตอบมาว่าจะรับเก็บและจะส่งเงินหลวงให้ได้เท่าที่นายอากรผูกขาด แนะมาให้หม่อมฉันทำความตกลงกับกระทรวงพระคลัง ข้อหนึ่งว่า ถ้าเทศาฯเก็บเงินอากรค่าน้ำได้มากกว่าจำนวนที่นายอากรรับผูกขาดขึ้นไปเท่าใด ขอให้กระทรวงพระคลังอนุญาต ให้กระทรวงมหาดไทยใช้เงินที่เพิ่มขึ้นบ้าง ปลูกสร้างสถานที่ว่าการและที่พักข้าราชการในมณฑลปราจีนซึ่งต้องการเงินอยู่ หม่อมฉันไปทูลกรมขุนศิริธัชฯ ก็ทรงยอมทำตามคำพระยาฤทธิรงค์ฯ แต่การที่มอบอำนาจให้เทศาฯเก็บอากรค่าน้ำครั้งนั้นอยู่ข้างแปลก ด้วยกรมขุนศิริธัชฯมีรับสั่งให้ออกท้องตรานกวายุภักษ์ กระทรวงการคลัง ตั้งให้พระยาฤทธิรงค์รเฉท เป็นขุนมัจฉาฯ (สร้อยว่ากระไรหม่อมฉันจำไม่ได้) ตำแหน่งนายอากรค่าน้ำเมืองปราจีนบุรี พระยาฤทธิรงค์ฯยังคุยอวดอยู่จนแก่ว่าตัวแกคนเดียวที่เป็นพระยากินพานทองแล้วได้เลื่อนเป็นขุนและว่ายังเก็บท้องตรากระทรวงพระคลังฉบับนั้นไว้เป็นที่ระลึก เพราะเหตุใดกรมขุนศิริธัชฯท่านจึงทรงทำเช่นนั้น มาคิดดูภายหลังจึงเห็นว่าท่านเตรียมเผื่อ
พระนาฤทธิรงค์ฯจะทำไม่ได้ดังรับปีหน้าจะได้ตั้งคนอื่นได้สะดวกไม่ต้องขอโอนหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทย แต่พระยาฤทธิรงค์ฯเก็บเงินอากรค่าน้ำ เมืองปราจีนบุรี ได้มากกว่าจำนวนเงินที่นายอากรเคยเก็บรับผูกขาดหลายเท่า กระทรวงมหาดไทยก็เริ่มแลเห็นว่า การที่จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลอาจจะจัดการเก็บเงินภาษีอากรซึ่งเป็นวิธีรัฐบาลเก็บเอง ให้เงินผลประโยชน์แผ่นดินเพิ่มขึ้นได้อีกมาก แต่ยังไม่ทันไปพูดกับกระทรวงพระคลังกรมขุนศิริธัชฯเสด็จออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังเสียก่อนจึงยังมิได้จัดการแก้ไขอย่างไร
พอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสด็จมาเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังทราบเรื่องพระยาฤทธิรงค์ฯเก็บอากรค่าน้ำ ก็ทรงเลื่อมใสในการเปลี่ยนแปลงนั้น แล้วอนุญาตให้เทศาฯเริ่มจัดการเก็บภาษีอากรและต่อมากรมหมื่นมหิศรฯให้กรมสรรพากรเป็นพนักงานเก็บภาษีอากร และพาฝรั่งผู้ชำนาญเข้ามาจัดระเบียบ ได้มิสเตอร์เกรแฮมมาเป็นเจ้ากรมสรรพากรใน โอนไปขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาลได้มิสเตอร์ไยล์ (ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร) เป็นเจ้ากรมสรรพากรนอก โอนไปขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ตั้งหน้าจัดวิธีเก็บอากรด้วยเลิกผูกขาดเปลี่ยนเป็นรัฐบาลเก็บเองเป็นอย่างๆมา และการที่จัดนั้นค่อยจัดขยายออกไปเป็นมณฑลๆ จำนวนเงินจึงได้เพิ่มขึ้นเป็นรายปี"
ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครอง โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งกระทรวงต่างๆขึ้นแล้วนั้น เกิดมีปัญหาเรื่องเงินค่าใช้จ่าย เงินเดือนข้าราชการ ค่าใช้สอย เงินสำหรับปลูกสร้างสถานที่ราชการและบ้านพักข้าราชการตามมณฑล กระทรวงพระคลังในสมัยนั้นไม่มีเงินพอจ่าย เงินส่วนมากยังติดค้างอยู่กับเจ้าภาษีนายอากรและเจ้าขุนมูลนายต่างๆ การจัดเก็บเงินรายได้ตามจังหวัดต่างๆยังหละหลวมไม่รัดกุม มีทางรั่วไหลอยู่มาก วิธีการจัดเก็บก็ล้าสมัย เมื่อได้ตั้งกระทรวงขึ้นแล้ว กระทรวงที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีก็ล้าสมัย เมื่อได้ตั้งกระทรวงขึ้นแล้ว กระทรวงที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีไม่สามารถจัดเก็บหรือปฏิบัติงานให้ดำเนินไปตามความประสงค์ของรัฐบาลได้ ก็ส่งให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงต้องรับภาระเป็นตัวแทนของกระทรวงพระคลัง ในการจัดหาเงินผลประโยชน์และเร่งรัดเงินค้าง ฉะนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องแสวงหาคนที่มีความรู้ความสามารถตลอดจนความชำนาญงานมาปรับปรุงแก้ไข และดำเนินการจัดเก็บภาษีให้สัมฤทธิผลสมความมุ่งหมาย
มิสเตอร์ เอฟ.เอช.ไยล์ เป็นชนชาติอังกฤษ ชาวเมืองพลีมัธ เริ่มเข้ารับราชการในกระทรวงอาณานิคมมาฝึกงานอยู่ในประเทศอินเดียและเริ่มทำงานอยุ่ในประเทศพม่าตั้งแต่เป็นเสมียนฝึกหัดจนได้เลื่อนเป็นปลัดอำเภอ เป็นผู้ที่มีความรู้ระเบียบแบบแผนของทางราชการ กฎหมาย ตลอดจนงบประมาณการเงินของอังกฤษเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีความรู้ภาษาต่างประเทศทางตะวันออกอีกหลายภาษา รัฐบาลได้ขอยืมตัว มิสเตอร์ เอฟ.เอช.ไยล์ จากข้าราชการอังกฤษ มาช่วยราชการงานด้านการคลัง ในพ.ศ. 2440 โดยเริ่มเก็บภาษีที่มณฑลปราจีน มิสเตอร์ เอฟ.เอช.ไยล์ ได้ทำงานมีประสิทธิภาพได้ประโยชน์แก่ทางราชการเป็นอย่างมาก ระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่การเดินสำรวจเร่งรัดที่นาที่เมืองปราจีนนั้น ได้พบข้อบกพร่องต่างๆในการจัดเก็บภาษีอากรค่านา จึงได้รายงานให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยทรงทราบพร้อมทั้งวิธีการแก้ไข ต่อมาได้โปรดให้ขยายการเก็บภาษีอากรออกไปยังมณฑลต่างๆ ทุกมณฑล ยกเว้นมณฑลกรุงเทพฯ เมื่อได้ทรงเห็นว่า มิสเตอร์ เอฟ.เอช.ไยล์ มีความรู้ความชำนาญในเรื่องที่ดินและการสรรพากร จึงได้ทรงแต่งตั้งให้ มิสเตอร์ เอฟ.เอช.ไยล์ เป็นเจ้ากรมสรรพากรนอกขึ้นอยู่ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในชั้นต้นมีสำนักงานตั้งอยู่ที่มณฑลปราจีนบุรี ภายหลังมิสเตอร์ เอฟ.เอช.ไยล์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร ต่อมาปี พ.ศ. 2441 มิสเตอร์ ริเวต คาร์แนค ชนชาติอังกฤษ ตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ทำรายงานกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องการสรรพากร มีใจความตอนหนึ่งว่า
"ในประเทศต่างๆรวมทั้งอินเดีย ซึ่งได้จัดการคลังและสรรพากร เป็นระเบียบเรียบร้อยแล้วนั้น ประเทศเหล่านั้นได้แยกการสรรพากรหรือการเก็บภาษีอากรให้อยู่ในมือของเจ้าพนักงานพวกหนึ่ง และการคลังหรือการเก็บรักษาผลประโยชน์แผ่นดินให้อยู่ในมือของเจ้าพนักงานอีกพวกหนึ่ง เพื่อสำหรับคุ้มกันมิให้เจ้าพนักงานทั้ง 2 พวกนี้รวมเข้ากันได้ เพราะเคยมีตัวอย่างมาแล้วในประเทศอื่นๆ ว่าถ้ารวมเข้าอยู่ในมือของเจ้าพนักงานพวกเดียวกันแล้ว เจ้าพนักงานทั้ง 2 ฝ่ายเคยสมคบกันฉ้อเงิน ผลประโยชน์แผ่นดินอันเป็นการเหลือวิสัยที่รัฐบาลจะป้องกันได้ เพราะมีทาง อาจจะทำทุจริตได้ในวิธีการสำรวจบัญชีซึ่งยากที่จะจับได้ และว่าตามวิธีปกครองของประเทศสยามนั้น เจ้าพนักงานที่เป็นเครื่องมือสำหรับเก็บเงินผลประโยชน์แผ่นดินทั้งปวง มีเจ้าพนักงานของกระทรวงมหาดไทยอยู่ในท้องที่แล้วคือ เจ้าเมือง อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะฉะนั้นควร แยกการสรรพากรเก็บผลประโยชน์แผ่นดินออกเป็นคนละพวกกับการคลังหรือการรักษาเงิน"มิสเตอร์ ริเวต คาร์แนค เห็นว่าควรแยกการสรรพากรไปไว้ในบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้แยกเป็นเจ้าพนักงานพวกหนึ่งต่างหากจากเจ้าพนักงานคลัง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกกรมสรรพากรนอก มาขึ้นกระทรวงมหาดไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2
ในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า กรมสรรพากรซึ่งมีหน้าที่ตรวจตราตักเตือนเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ในการตรวจเก็บภาษีอากร กระทำการบัญชีและรวบรวมเงินผลประโยชน์แผ่นดิน จะรวมอยู่ในกระทรวงอันเสนาบดีมีหน้าที่ปกครอง ยังไม่สู้เหมาะแก่ทางการ ควรมาขึ้นอยู่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติอันเสนาบดีมีหน้าที่ดำริและบัญชาการเงินอยู่แล้ว เพื่อจะได้จัดการตรวจตราและจัดการให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นฉะนั้นจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกกรมสรรพากรใน ซึ่งแต่เดิมขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล และกรมสรรพากรนอกซึ่งเดิมขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยมาขึ้นอยู่ในบังคับบัญชากระทรวงพระคลังมหาสมบัติและให้รวมเข้าเป็นกรมเดียวกันเรียกว่ากรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2458 ดังมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ดังนี้
ประกาศยกกรมสรรพากรนอก มาขึ้นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และรวมกับกรมสรรพากรในเปลี่ยนนามเป็นกรมสรรพากร
พระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯสั่งว่า กรมสรรพากรซึ่งมีหน้าที่ตรวจตราตักเตือนเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ในการตรวจตราเก็บภาษีอากร กระทำการบัญชีและรวบรวมเงินประโยชน์แผ่นดินนั้น ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า หน้าที่การเช่นนี้จะรวมอยู่ในกระทรวงอันเสนาบดีมีหน้าที่ปกครอง ยังไม่สู้เหมาะแก่ทางการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมสรรพากรใน ซึ่งแต่เดิมขึ้นในกระทรวงนครบาลมาขึ้นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอันเสนาบดีมีหน้าที่ดำริและบัญชาทางการเงินอยู่แล้วเพื่อจะได้จัดการตรวจตราและจัดการให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น การก็ได้ดำเนินการมาโดยเรียบร้อย สมควรจะรวมสรรพากรนอกมาไว้ในกระทรวงเดียวกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมสรรพากรนอกและข้าราชการในกรมสรรพากรนอกมาขึ้นอยู่ในบังอนึ่ง กรมสรรพากรในและกรมสรรพากรนอกแต่เดิมมาได้ขึ้นอยู่ต่างกระทรวงจึงแยกอยู่เป็นสองกรม บัดนี้ได้ยกมารวมอยู่ในกระทรวงเดียวกันแล้ว สมควรจะรวมเข้าเป็นกรมเดียวได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวมกรมสรรพากรนอกและกรมสรรพากรในเข้าเป็นกรมเดียวกัน ให้เรียกว่า กรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ได้ประกาศนี้เป็นต้นไป
ประกาศมา ณ วันที่ 2 กันยายน พุทธศักราช 2458 เป็นวันที่ 1757 ในรัชกาลปัจจุบัน

ตราประจำกระทรวงการคลังและกรมสรรพากร

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ได้ทรงตรัสอธิบายเกี่ยวกับการใช้ตราว่า "แต่ก่อนไม่ได้ใช้เซ็นชื่อ ใช้ตราประจำตัวหรือประจำตำแหน่งประทับแทนเซ็นชื่อ เพราะฉะนั้น พระเจ้าแผ่นดินกับทั้งบรรดาสามัญ ซึ่งมีธุระในการหนังสือก็ทำตราขึ้นใช้ประจำตัว เว้นแต่บางคนบางตำแหน่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดปราณ จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระราชลัญจกรไปใช้เป็นตราประจำตัว นับเป็นเกียรติยศอันใหญ่ยิ่ง" เมื่อได้พระราชทานไปแล้ว ก็ไม่เรียกว่าพระราชลัญจกร จะเรียกจำเพาะแต่ที่ทรงใช้ประทับเท่านั้น ผู้ที่ได้รับตราพระราชทาน ถ้าเป็นตราประจำตัว เมื่อไม่มีตัวแล้วก็ส่งคืน ถ้าเป็นตราประจำตำแหน่งก็ต้องส่งคืนเช่นกัน ครั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ ตราตำแหน่งเสนาบดีเหล่านี้ ไม่ปรากฎว่าใช้ประทับอีกต่อไป นอกจากจะใช้เครื่องหมายประจำกระทรวง
เดิมกระทรวงการคลังใช้ตราพระสุริยะมณฑล เป็นตราประจำกระทรวง พระยาอนุมานราชธน ได้อธิบายเรื่องตราพระสุริยมณฑลไว้ว่า "แต่ก่อนนี้การคลังและการต่างประเทศรวมอยู่ด้วยกัน และได้ใช้ตราบัวแก้ว ซึ่งเดิมเป็นตราประจำตำแหน่งเจ้าพระยาคลัง เป็นตรา ประจำกระทรวง ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2418 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองใหม่ โดยยกกรมพระคลังมหาสมบัติ แยกออกจากกระทรวงการต่างประเทศ ตราบัวแก้วจึงตกเป็นตราประจำกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ถือเอาตราพระสุริยมณฑลเป็นตราประจำกระทรวง (ตราพระสุริยมณฑลมีสองตรา คือ ตราพระสุริยมณฑลใหญ่ และตราพระสุริยมณฑลน้อย) ตราพระสุริยมณฑลนี้ ได้เคยพระราชทานเป็นตราประจำตัวแก่สมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)
ตราปักษาวายุภักษ์ ในพระธรรมนูญใช้ตรากล่าวว่าตราปักษาวายุภักษ์ เป็นตราของพระยาราชภักดีฯ เจ้ากรมพระจำนวน ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีอากร ต่อมาเมื่อโปรดให้ตั้งกระทรวงพระคลังฯและใช้ตราพระสุริยมณฑลแล้ว ตราปักษาวายุภักษ์ก็เลิกใช้ แต่นำเอามาใช้เป็นเครื่องหมายกระทรวงการคลัง นกวายุภักษ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ตรัสอธิบายไว้ดังนี้ ถ้าแปลตามคำก็ว่า นกกินลม ข้อยากในนกนี้เกิดขึ้นในที่ประชุมเสนาบดี สั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงเขียนผูกตรากระทรวงต่างๆเป็นลายข้อมือเสื้อเครื่องแบบ หากเป็นตราเก่าซึ่งมีตราประจำกระทรวงอยู่แล้ว จะเอามาใช้ได้ให้ใช้ตราเก่า ที่เป็นกระทรวงใหม่ไม่มีตรามาแต่เดิมจึงคิดผูกขึ้นใหม่ โดยคำสั่งอย่างนี้กระทรวงใดก็ไม่ยากเท่ากระทรวงคลัง ซึ่งเดิมพระยาราชภักดีฯทำการในหน้าที่เสนาบดีกระทรวงพระคลัง คือตรานกวายุภักษ์ รูปนกวายุภักษ์ในตรานั้นก็เป็นนกแบบสัตว์หิมพานต์ เหมือนกับนกอินทรีย์
ฉะนั้นไม่ทรงเชื่อว่าถูก จึงได้ทรงรำลึกต่อไป ก็ทรงรำลึกได้ว่า มี ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งมีความว่าทรงพระมาลาปักขนนกวายุภักษ์ ก็ทรงค้นหา ก็พบในหมายท้ายหนังสือพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนริทรเทวี เมื่อมีคำปรากฏเช่นนั้น นกวายุภักษ์ก็คือ นกการเวก เพราะพระมาลาทุกชนิดที่ปักขนนก ย่อมใช้ขนนกการเวกอย่างเดียวเป็นปกติ เมื่อทรงดำริปรับนกวายุภักษ์กับนกการเวกเข้ากัน ก็เห็นลงกันได้โดยมีทางเราพูดกันว่า นกการเวกนั้นมีปกติอยู่ในเมฆบนฟ้า กินลมเป็นภักษาหารตามที่ว่าพิสดารเช่นนั้น ก็เพราะนกชนิดนั้นในเมืองเราไม่มีและที่ว่ากินลมก็เพราะในเมฆไม่มีอะไร นอกจากลมจึงให้กินลมเป็นอาหาร แต่เมื่อปกติของมันอยู่ในเมฆแล้วก็ไฉนเล่ามนุษย์จึงได้ขนมันมาปักหมวก เชื่อว่าเพราะเหตุที่น่าสงสัยเช่นนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงตรัสสั่งไปต่างประเทศที่ส่งขนนกชนิดนั้นเข้ามา ให้ส่งตัวนกเข้ามาถวาย จึงได้ตัวจริงเป็นนกยัดไส้มีขนติดบริบูรณ์เข้ามา ก็เป็นนกที่เรียกตามภาษาอังกฤษ Paradise Bird ซึ่งที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษเช่นนี้ นึกว่าแปลมาจากภาษาแขก ความก็ว่าเป็นนกฟ้าเราคงได้ฟังแขกเขาว่า จึงละเมอตามไป เมื่อได้นกยัดไส้เข้ามาแล้วจึงทรงจัดเอาขึ้นเกาะคอนมีด้าม ให้เด็กถือนำพระยานุมาศในงานสมเด็จเจ้าฟ้าโสกันต์ ตามที่ได้พยานมาว่าเป็นนกอยู่ในแผ่นดิน ไม่ใช่นกอยู่ในฟ้าเช่นนั้น ใครจะเชื่อกันหรือไม่ก็หาทราบไม่ แม้ราชสีห์เมื่อได้ตัวจริงมาบอกใครว่า นี่แหละราชสีห์ก็ไม่มีใครเชื่อด้วยไม่เหมือนกับที่เราปั้นเขียนกัน ตามที่เราปั้น เขียนกันนั้น ขาดสิ่งสำคัญที่ไม่มีสร้อยคอ อันจะพึงสมชื่อว่า ไกรสร หรือ ไกรสรสีห์ หรือ ไกรสรราชสีห์
ตราพระอุเทนธิราชดีดพิณ เครื่องหมายประจำกรมสรรพากร มีประวัติอยู่ในหนังสือธรรมบทแปล ภาค 5 เป็นบทตอนหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในเรื่องพระนางสามาวดี ซึ่งนายประพัฒน์ ตรีณรงค์ แห่งกรมศิลปากร ได้เขียนไว้ในหนังสือ ศิลปากร ว่า พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปลันตาปะ แห่งกรุงโกสัมพี เมื่อยังอยู่ในพระครรภ์ นกหัสดีลิงค์ได้โอบเอาพระราชมารดาไปปล่อยไว้ที่คาคบไม้ใหญ่ในป่า และได้ประสูติที่นั่นยามรุ่งอรุณ จึงมีพระนามว่า อุเทน แปลว่า รุ่งอรุณที่ปราศจากเมฆหมอก ต่อมา อัลลกัปปดาบส นำไปทำนุบำรุงและสอนมนต์ชื่อหัสดีกันต์และพิณสามสาย เมื่อดีดพิณและสาธยายมนต์สามารถทำให้ช้างหนีหรือช้างเข้ามาหาก็ได้ เมื่อพระเจ้าปลันตาปะสวรรคตพระเจ้าอุเทนทรงนำกองทัพช้างเข้าสู่กรุงโกสัมพี และได้เสด็จขึ้นครองราชย์นับแต่บัดนั้น
ตราพระอุเทนธิราชดีดพิณ (ตราเก่า) ที่ใช้ในสมัยเริ่มก่อตั้งกรมสรรพากร เมื่อ พ.ศ. 2459 อันมีพระเจ้าอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (เอฟ.เอช.ไยล์) เป็นอธิบดีคนแรกนั้น ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้ออกแบบ ตราพระอุเทนธิราชดีดพิณที่ปรากฏในดวงตราอากรแสตมป์นั้น นายปลิว จั่นแก้ว แห่งกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้เขียนปรับปรุงจากตราเก่า ส่วนตราพระอุเทนธิราชดีดพิณที่กรมสรรพากรใช้อยู่ในปัจจุบัน (ตราใหม่) เข้าใจว่าดัดแปลงมาจากตราอากรแสตมป์
เหตุที่กรมสรรพากรได้นำพระรูปพระอุเทนธิราชดีดพิณ มาเป็นเครื่องหมายประจำกรม ก็เพราะได้พิจารณาเห็นว่าพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถใช้พิณและมนต์เรียกช้างได้ จึงใช้เป็นสัญลักษณ์ของกรมเพื่อเรียกร้องให้ประชาชน นำภาษีอากรบำรุงให้รัฐ


2.2 โครงสร้างการบริหาร
โครงสร้างสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 มีดังนี้
สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 มีท่านสรรพากรที่ประจำการอยู่ปัจจุบัน คือ นายมงคล อภิพัฒนะมนตรี และมีผู้ช่วยสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 อยู่ 2 คน คือ
นายปราการ อภิชาตบุตร์ และนายสุเมธ เพ็ญบุญรอด โดย จะมีทีมกำกับดูแลทั้งหมด 9 ทีม ตั้งแต่ทีม ก1-ก9 และมีฝ่ายต่างๆดังนี้
- ฝ่ายกฎหมายและเร่งรัดภาษีอากรค้าง(บางขุนเทียน,จอมทอง)
- ฝ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายและคืนภาษี
- ฝ่ายวางแผนและประเมินผล&ทีมบริหาร-สำรวจ
- ฝ่ายกรรมวิธี
- งานบริหารทั่วไป
- สส. บางขุนเทียน
- สส.จอมทอง

สถานที่ตั้ง
เลขที่ 14/21 หมู่ 3 ถนนเอกชัย แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150 โทรศัพท์เบอร์กลาง : 0-2416-5410-2
Email : bkk15@rd.go.th
รถประจำทางที่ผ่าน : สาย 43 , 120 , 167 และ ปอ.544


2.3 ลักษณะงานของสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27
สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 เป็นหน่วยงานราชการของรัฐบาล ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรจากประชาชนเพื่อนำไปใช้จ่ายเกี่ยวกับสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนในประเทศเอง เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าวถือเป็นวัตถุประสงค์หลักในการที่รัฐจัดเก็บภาษีจากประชาชน และยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆ ที่รัฐนำมาตรการจัดเก็บภาษีอากรมาเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่รัฐต้องการ ดังนี้
1. เพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในกิจการของรัฐ
2. เพื่อควบคุมการบริโภคของประชาชน
3. เพื่อการกระจายรายได้
4. เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
5. ส่งเสริมธุรกิจการค้า
และสำนักงานสรรพากรก็มีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งจะทำหน้าที่เก็บภาษีอากร ให้คำแนะนำ ให้ความรู้เรื่องภาษี และคอยให้บริการกับประชาชน


2.4 ลักษณะงานของฝ่ายบริหารทั่วไป
สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 เป็นหน่วยงานราชการที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีจากประชาชน โดยฝ่ายบริหารทั่วไป เป็นฝ่ายที่นักศึกษาได้เข้าไปฝึกซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
2.4.1 การวางแผนปฏิบัติงานของภาค
2.4.2 ติดตามผลการปฏิบัติงานเปรียบเทียบกับแผนงาน
2.4.3 การวิเคราะห์ผลการปฏิบัติงาน
2.4.4 การดำเนินการเกี่ยวกับธุรการและงานสารบรรณทั่วไป
2.4.5 การดำเนินการเกี่ยวกับสรรหา การบรรจุแต่งตั้ง การโยกย้าย การเกลี่ยอัตรากำลัง การเลื่อนขั้นเงินเดือน
2.4.6 การจัดทำทะเบียนประวัติ และการให้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
2.4.7 การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการ ลูกจ้างในท้องที่
แต่ส่วนที่รับผิดชอบงานหลักๆ ในฝ่ายบริหารทั่วไปของสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 มีอยู่ 6 ส่วน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
2.4.1 งานธุรการ
2.4.2 งานการเงิน
2.4.3 งานพัสดุ
2.4.4 งานแบบแสดง/ประชาสัมพันธ์
2.4.5 งานบริการผู้เสียภาษี (คัดแบบ)
2.4.6 งานเลข

2.5 ลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย
สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 เป็นหน่วยงานราชการที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีจากประชาชน โดยฝ่ายบริหารทั่วไป เป็นฝ่ายที่นักศึกษาได้เข้าไปฝึกซึ่งจะเป็นส่วนที่รับผิดชอบงานหลักๆ อยู่ 6 ส่วนคือ
- งานธุรการ
- งานการเงิน
- งานพัสดุ
- งานแบบแสดง/ประชาสัมพันธ์
- งานบริการผู้เสียภาษี (คัดแบบ)
- งานเลข
หลักๆที่ได้รับมอบหมายคือ งานธุรการ ซึ่งได้รับมอบหมายงาน ดังนี้
1.4.1 รับเอกสารจากไปรษณีย์แล้วเช็คความเรียบร้อย ทำการแกะและแยกเอกสารแล้วลงรับและประทับวันที่ให้เรียบร้อย
1.4.2 ลงทะเบียนรับรายตัว-ปฏิบัติรายตัวหนังสือราชการทั้งภายในและภายนอก
1.4.3 ออกเลขหนังสือราชการ
1.4.4 ลงรับหนังสือราชการใหม่
1.4.5 เช็คทีม
1.4.6 ลงทะเบียนรับแบบ ภ.ง.ด.
1.4.7 ส่งเอกสารตามทีม
1.4.8 เวียนหนังสือราชการ
1.4.9 จ่าหน้าซองเอกสาร
1.4.10 ถ่ายเอกสาร รับโทรศัพท์ และงานอื่นๆ บ้างที่นอกเหนือจากงานธุรการในฝ่ายบริหารทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น